13 มิ.ย.

ชำมะเลียง Lepisanthes fruticosa (Roxb.) Leenh.

วันที่บันทึกข้อมูล : 13 มิ.ย. 2021 โดย : Editorial Team หมวดหมู่ : FAMILY SAPINDACEAE

ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2021 เวลา 20:31:51 น. โดย Editorial Team

จำนวนการเข้าชมหน้านี้ 369 views

ชำมะเลียง

ชื่อวิทยาศาสตร์: Lepisanthes fruticosa (Roxb.) Leenh.

ชื่อสามัญ: –

ชื่ออื่น: โคมเรียง ชำมะเลียงบ้าน พุมเรียง พุมเรียงสวน พูเวียง มะเถ้า

วงศ์: SAPINDACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ต้น ไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงได้ถึง 15 เมตร แตกกิ่งต่ำ เปลือกเรียบ สีน้ำตาลหรือสีเทาเงินหรือมีช่องอากาศ

ใบ ประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน มีหูใบเทียม ใบย่อย 3-17 ใบ เรียงตรงข้ามหรือเรียงสลับ รูปไข่ รูปไข่กลับ รูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ หรือรูปใบหอก กว้าง 2-12 เซนติเมตร ยาว 9-40 เซนติเมตร ใบที่ปลายบางครั้งลดรูปและมีขนาดเล็กลงมาก ปลายมนหรือเรียวแหลม โคนอาจเบี้ยว ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษถึงกึ่งหนาคล้ายแผ่นหนัง

ดอก ดอกเป็นช่อคล้ายช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามกิ่ง ลำต้น ซอกใบ และปลายกิ่ง ดอกสีม่วงแดง พบน้อยที่มีสีขาว กลีบเลี้ยง จำนวน 4 กลีบ สีม่วงแดง กลีบดอก 4 กลีบ เกสรเพศผู้ 5-8 เกสร รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ

ผล ผลแบบผลมีเนื้อ ฉ่ำน้ำ คล้ายผลผนังชั้นในแข็ง ทรงรูปไข่หรือรูปทรงรี สุกสีแดงเข้มถุงสีน้ำเงินดำ เมล็ดรูปทรงค่อนข้างกลมหรือกึ่งทรงรูปไข่ สีดำอมน้ำตาล มี 2 เมล็ด

ข้อมูลทั่วไป

ในประเทศไทยพบเกือบทุกภาค และนิยมปลูกเลี้ยงเป็นไม้ผล ในต่างประเทศพบในแถบอินโดจีนและมาเลเซีย

การปลูกเลี้ยงและการใช้ประโยชน์

          การปลูกเลี้ยง

          ดินร่วน ระบายน้ำดี ต้องการน้ำปานกลาง แสงแดดครึ่งวัน ออกดอกช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนธันวาคม

          การขยายพันธุ์

          เพาะเมล็ด ปักชำ

          การใช้ประโยชน์

เนื้อไม้แข็ง ทนทาน และหนัก ใช้ในการก่อสร้าง เป็นพืชสมุนไพร รากใช้เป็นยา ผลรับประทานได้ ใบอ่อนใช้เป็นผักสด