ขันทองพยาบาทด่าง Suregada multiflora (A.Juss.) Baill.
ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2021 เวลา 18:45:12 น. โดย Editorial Team
จำนวนการเข้าชมหน้านี้ 369 views
ขันทองพยาบาทด่าง
ชื่อวิทยาศาสตร์: Suregada multiflora (A.Juss.) Baill.
ชื่อสามัญ: False lime
ชื่ออื่น: ข้าวตาก ขันทองพยาบาทเครือ ขุนตาก ทุเรียนป่า ฮ่อสะพานควาย
วงศ์: EUPHORBIACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ต้น ไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูง 7-13 เมตร ตั้งตรง ทรงพุ่มค่อนข้างกลม แตกกิ่งก้านค่อนข้างแน่น กิ่งก้านอ่อนและห้อยลู่ลง มีขนรูปดาว เปลือกสีน้ำตาล เมื่อแก่แตกเป็นร่องตื้นตามยาว เนื้อไม้สีขาว
ใบ ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน กว้าง 3-8 เซนติเมตร ยาว 9-22 เซนติเมตร ปลายแหลมหรือมน โคนสอบ ขอบจักซี่ฟัน ด้านบนเรียบ เป็นมัน ด้านล่างมีต่อมสีเหลือง มีขนรูปดาว ก้านใบยาว 2-5 มิลลิเมตร หูใบยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร ร่วงง่าย
ดอก ดอกแยกเพศต่างต้น เป็นช่อสั้น ๆ ออกตามซอกใบ กลิ่นหอม สีเขียวอมสีเหลืองอ่อน ขนาด 0.8-1 เซนติเมตร มี 5-10 ดอก ใบประดับรูปใบหอก กว้าง 0.7-0.8 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ไม่มีกลีบดอก ดอกเพศผู้ขนาดประมาณ 2.5 มิลลิเมตร เกสรเพศผู้ 35-60 เกสร แต่ละเกสรมีต่อมอยู่ที่ฐาน ฐานรองดอกนูนพองออก มีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันปะปนอยู่ ดอกเพศเมียคล้ายกับดอกเพศผู้ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีขนหนาแน่น รังไข่ 3 ช่อง มีขนละเอียด ก้านยอดเกสรเพศเมีย 3 ก้าน ก้านดอกยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงหนา โคนเชื่อมกันเล็กน้อย ปลายแยก 5 แฉก ขอบจักเป็นซี่ฟัน
ผล ผลกลม ผิวผลเกลี้ยง เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 มิลลิเมตร ผลอ่อนสีเขียว เมื่อสุกเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอมส้ม แตกตามพู มีพู 3 พูและมีติ่งเล็ก ๆ อยู่ที่ยอด ภายในผลมี 3 เมล็ด เมล็ดค่อนข้างกลม ขนาดประมาณ 7-8 มิลลิเมตร เมล็ดสีน้ำตาลเข้ม เยื่อหุ้มเมล็ดสีขาว
ข้อมูลทั่วไป
ในประเทศไทยพบเกือบทุกภาค ในต่างประเทศพบในประเทศอินเดีย จีนและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
การปลูกเลี้ยงและการใช้ประโยชน์
การปลูกเลี้ยง
ดินทุกชนิด ต้องการน้ำปานกลาง ชอบแสงแดดจัด
การขยายพันธุ์
เพาะเมล็ด ตอนกิ่ง
การใช้ประโยชน์
เป็นพืชสมุนไพร มีสรรพคุณทางยา ปลูกประดับสวน ใช้ทำฟืน และมีพิษทำให้เมา