16 มี.ค.

หงส์เหิน ข่าลิง Globba schomburgkii Hook.f.

วันที่บันทึกข้อมูล : 16 มี.ค. 2018 โดย : Editorial Team หมวดหมู่ : FAMILY ZINGIBERACEAE

ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2021 เวลา 20:49:33 น. โดย Editorial Team

จำนวนการเข้าชมหน้านี้ 948 views

หงส์เหิน ข่าลิง

ชื่อวิทยาศาสตร์: Globba schomburgkii Hook.f.

ชื่อสามัญ: –

ชื่ออื่น: กล้วยผี กระชายผี กระชายลิง ขะมิน ขมิ้นผี ว่านขมิ้น ว่านน้ำ

วงศ์: ZINGIBERACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ต้น พืชล้มลุกอายุหลายปี ลำต้นเทียมเหนือดินสูง 30-50 เซนติเมตร ลำต้นไต้ดินเป็นเหง้า

ใบ ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว รูปรี กว้าง 1.8-4 เซนติเมตร ยาว 8-20 เซนติเมตร ปลายเรียวแหลม โคนลิ่ม ขอบเรียบ ก้านใบยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร

ดอก ช่อดอกแบบช่อกระจะหรือช่อกระจุกแยกแขนง ช่อย่อยแบบช่อกระจะ เกิดที่ปลายลำต้นเหนือดิน ยาว 7-12 เซนติเมตร ดอกสีเหลือง ใบประดับรูปไข่หรือรูปไข่กลับ สีเขียว ใบประดับย่อยรูปเกือบกลมหรือรูปใบหอกยาวประมาณ 8 มิลลิเมตร โคนกลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร ปลายแยกเป็นแฉกลึกด้านเดียว ปลายสุดมีสามหยัก โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ปลายแยกเป็นสามแฉก สีเหลืองอมส้ม รูปไข่ ยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร ปลายคุ่มโค้ง กลีบปากสีเหลือง คล้ายรูปหัวใจกลับแคบ เป็นแฉกลึกถึงโคนกลีบ กลางกลีบมีแต้มสีส้ม ปลายเรียวแหลมหรือมน กลีบคู่ข้างรูปไข่กลับ เกสรเพศผู้ยาวประมาณ 1.4 เซนติเมตร ปลายมีรยางค์ 2 คู่ รังไข่ยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร ดอกบานช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายน

ข้อมูลทั่วไป

      พบตามป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ที่ความสูงใกล้ระดับน้ำทะเลจนถึง 800 เมตร ในประเทศไทยพบทางภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันตกเฉียงใต้ ในต่างประเทศพบที่พม่า จีน และเวียดนาม

การปลูกเลี้ยงและการใช้ประโยชน์

      การปลูกเลี้ยง

      เจริญเติบโตได้ดีในดินทรายที่มีอินทรียวัตถุสูง มีความชื้นปานกลาง และอากาศถ่ายเท

      การขยายพันธุ์

      แยกเหง้า แยกหน่ออากาศจากช่อดอก เพาะเมล็ด เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

      การใช้ประโยชน์

      เป็นไม้ประดับ