เข้าพรรษาเหลือง Globba obscura K. Larsen
ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2021 เวลา 20:58:43 น. โดย Editorial Team
จำนวนการเข้าชมหน้านี้ 459 views
340
เข้าพรรษาเหลือง
ชื่อวิทยาศาสตร์: Globba obscura K. Larsen
ชื่อสามัญ: –
ชื่ออื่น: เข้าพรรษาใหญ่ กล้วยเครือคำ ข่าลิง ว่านขมิ้น ว่านน้ำ หงส์เหิน
วงศ์: ZINGIBERACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ต้น พืชล้มลุกอายุหลายปี เหง้าใต้ดิน ลำต้นเหนือดินสูงประมาณ 30-50 เซนติเมตร
ใบ ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว รูปรีแกมรูปขอบขนานหรือรูปใบหอกแคบ กว้าง 1.5-2.3 เซนติเมตร ยาว 7-14 เซนติเมตร ปลายเรียวแหลมหรือยาวคล้ายหาง โคนมนหรือรูปลิ่ม ขอบเรียบ เกลี้ยงทั้งสองด้าน แผ่นใบสีเขียวเข้ม ก้านใบสั้นมากหรือไม่มี
ดอก ดอกเป็นช่อแบบช่อกระจุกแยกแขนง มีช่อย่อยแบบช่อเชิงลด ออกตามปลายลำต้นเหนือดิน ดอกสีเหลือง ช่อโปร่ง ยาว 7-14 เซนติเมตร ก้านช่อยาวประมาณ 5 เซนติเมตร ช่อดอกย่อยยาว 1-2 เซนติเมตร ก้านช่อดอกย่อยยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ใบประดับสีเขียว รูปรีหรือรูปไข่ ยาว 1.2-2 เซนติเมตร ใบประดับย่อยรูปไข่กลับ ยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด คล้ายลูกข่าง ยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร ปลายแยก 3 แฉก กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ 1.4 เซนติเมตร ปลายแยก 3 แฉก สีเหลือง รูปขอบขนานรูปไข่กลับ ยาว 4-6 มิลลิเมตร ปลายคุ้มโค้ง กลีบปากสีเหลือง คล้ายรูปหัวใจกลับ แฉกลึกถึงโคนกลีบ กว้างและยาวประมาณ 1.2 เซนติเมตร กลีบคู่ข้างรูปไข่กลับแคบ ออกดอกช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายน
ข้อมูลทั่วไป
มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชีย
การปลูกเลี้ยงและการใช้ประโยชน์
การปลูกเลี้ยง
เจริญเติบโตได้ดีในดินทรายที่มีอินทรียวัตถุสูง ความชื้นปานกลาง และอากาศถ่ายเท แดดรำไร
การขยายพันธุ์
เพาะเมล็ด แยกเหง้า
การใช้ประโยชน์
ปลูกเป็นไม้ประดับ นิยมใช้ในพิธีทางศาสนา