ว่านสาวหลง Amomum schmidtii (K.Schum) Gagnep.
ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 03 มิ.ย. 2022 เวลา 11:18:32 น. โดย Editorial Team
จำนวนการเข้าชมหน้านี้ 1,902 views
ว่านสาวหลง
ชื่อวิทยาศาสตร์: Amomum schmidtii (K.Schum) Gagnep.
ชื่อสามัญ: –
ชื่ออื่น: เร่วหอม ว่านร่อนทอง เสน่ห์มหาพรหม
วงศ์: ZINGIBERACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ต้น พืชล้มลุกอายุหลายปี ลำต้นใต้ดินเป็นเหง้า ลำต้นเหนือดินสูง 1-1.5 เมตร
ใบ ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว รูปรีหรือรูปใบหอก กว้าง 5-8.5 เซนติเมตร ยาว 10-30 เซนติเมตร ปลายมีติ่งยาว โคนสอบ ขอบเรียบ ด้านล่างมีขนนุ่ม มีกลิ่นหอม
ดอก ช่อดอกแบบช่อเชิงลด เกิดจากลำต้นใต้ดิน ทรงรี กว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ยาวประมาณ 2 เซนติเมตร ใบประดับก้านช่อรูปขอบขนาน ดอกสีขาวมีแถบสีเหลือง มีประสีแดงใกล้โคนกลีบ ใบประดับรูปขอบขนาน ใบประดับย่อยม้วนเข้าหากัน ยาว 1.5 เซนติเมตร ปลายหยักสองถึงสามหยัก กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดแคบ ยาวประมาณ 3.5-4.5 เซนติเมตร ปลายแยกเป็นสามแฉก สีขาวถึงสีน้ำตาลอ่อน กลีบปากสีขาวกลางกลีบมีแถบสีเหลือง โคนกลีบมีประสีแดง กลีบรูปคล้ายพัด กลีบคู่ข้างลดรูป
ผล ผลแบบผลแห้งแตก ทรงกลม มีขนปกคลุมและมีหนามสั้นประปราย
ข้อมูลทั่วไป
ในประเทศไทยพบทางป่าดิบแล้ง ภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงใต้ ในต่างประเทศพบที่ลาวและกัมพูชา
การปลูกเลี้ยงและการใช้ประโยชน์
การปลูกเลี้ยง
ดินร่วนปนทรายหรือดินที่มีอินทรีวัตถุสูง ต้องการน้ำปานกลาง ชอบร่มรำไร
ดอกบานช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน
การขยายพันธุ์
เพาะเมล็ด แยกเหง้า
การใช้ประโยชน์
เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์สบู่และเครื่องสำอางค์ นิยมปลูกเป็นพืชเมตตามหานิยม