โมกแดง Wrightia dubia (Sims) Spreng.
ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2021 เวลา 01:38:03 น. โดย Editorial Team
จำนวนการเข้าชมหน้านี้ 746 views
โมกแดง
ชื่อวิทยาศาสตร์: Wrightia dubia (Sims) Spreng.
ชื่อสามัญ: –
ชื่ออื่น: มุ มูก มูกมัน โมกป่า โมกมัน โมกราตรี จอมปูน
วงศ์: APOCYNACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ต้น ไม้พุ่ม 2-5 เมตร เปลือกสีน้ำตาล แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มโปร่ง กิ่งก้านมีขนาดเล็ก
ใบ ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรีหรือรูปไข่กลับ กว้าง 2-8 เซนติเมตร ยาว 5-25 เซนติเมตร ปลายแหลมเป็นติ่ง โคนรูปลิ่มถึงมน ขอบเรียบ ใบสีเขียวเข้มเป็นมันทั้งสองด้าน ใต้ใบมีขนบริเวณเส้นใบ ก้านยาวประมาณ 2-5 มิลลิเมตร
ดอก ดอกเป็นช่อแบบช่อกระจุก ห้อยลง ออกตามปลายกิ่ง ยาว 2.5-4.2 เซนติเมตร สีส้ม ชมพู ถึงสีแดง รูปไข่ ดอกเป็นสีส้มอมชมพูหรือสีแดง กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยก 5 แฉก กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยก 5 แฉก ปลายกลีบแหลม ขอบกลีบบิดเบี้ยว เกสรเพศผู้ 5 เกสร ดอกมีกลิ่นหอม
ผล ผลแบบฝักยาว โคนฝักติดกันเป็นคู่ กว้าง 3.5-5 มิลลิเมตร ยาว 13-30 เซนติเมตร ผลย่อยแบบผลแตกแนวเดียว ทรงกระบอก เรียวยาว เมล็ดจำนวนมาก มีขนสีขาวเป็นพู่ที่ปลาย
ข้อมูลทั่วไป
ในประเทศไทยพบเกือบทุกภาค ในต่างประเทศพบในภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย
การปลูกเลี้ยงและการใช้ประโยชน์
การปลูกเลี้ยง
ดินร่วน ระบายน้ำดี ต้องการน้ำปานกลางถึงน้ำมาก ชอบร่มรำไร
ออกดอกช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฏาคม
การขยายพันธุ์
เพาะเมล็ด ตอนกิ่ง แยกหน่อ
การใช้ประโยชน์
รับประทานได้ เป็นพืชสมุนไพร มีสรรพคุณทางยา ปลูกเป็นไม้ประดับ