กลึงกล่อม Polyalthia suberosa (Roxb.) Thwaites
ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2021 เวลา 20:31:52 น. โดย Editorial Team
จำนวนการเข้าชมหน้านี้ 804 views
กลึงกล่อม
ชื่อวิทยาศาสตร์: Polyalthia suberosa (Roxb.) Thwaites
ชื่อสามัญ: –
ชื่ออื่น: กระทุ่มกลอง กระทุ่มคลอง กำจาย ไคร้น้ำ จิงกล่อม ช่องกลอง ชั่งกลอง ท้องคลอง น้ำนอง น้ำน้อย ผักจ้ำ มงจาม มะจ้ำ
วงศ์: ANNONACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ต้น ไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก สูง 2-5 เมตร ลำต้นขรุขระ แตกกิ่งต่ำ พุ่มกลม กิ่งอ่อนมีขนประปราย กิ่งแก่เกลี้ยง ตามกิ่งก้านมีช่องระบายอากาศเป็นตุ่มสีเทาอมชมพูอยู่กระจัดกระจาย
ใบ ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนานหรือรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน กว้าง 1.7-3.5 เซนติเมตร ยาว 5-10 เซนติเมตร ปลายแหลม โคนสอบเบี้ยวเล็กน้อย ขอบเรียบหรือม้วนงอเล็กน้อย แผ่นใบเกลี้ยงทั้ง 2 ด้าน หรืออาจมีขนสั้น ตามเส้นกลางใบ
ดอก ดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบ ตรงข้ามหรือเยื้องกับใบหรือออกเหนือง่ามใบเล็กน้อย ใบประดับขนาดเล็ก ติดอยู่ใกล้โคนก้าน ดอกสีเหลือง กลีบเลี้ยงรูปไข่ 3 กลีบ ด้านนอกมีขน กลีบดอกสีเหลืองอมน้ำตาล ขนาดใหญ่กว่ากลีบเลี้ยง เรียงสลับกัน 2 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ กลีบดอกชั้นในมีขนาดใหญ่กว่าชั้นนอก กลีบดอกชั้นนอก มีขนประปราย เกสรเพศผู้ มีจำนวนมาก อยู่ชิดกันแน่นเป็นกลุ่ม ดอกมีกลิ่นหอม
ผล ผลกลุ่ม แบบผลมีเนื้อ สีเขียว เมื่อสุกเปลี่ยนเป็นสีแดง ทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5 มิลลิเมตร ผิวเรียบ มี 1-2 เมล็ด รูปรี สีน้ำตาล
ข้อมูลทั่วไป
ในประเทศไทยพบทั่วทุกภาค ในต่างประเทศพบที่จีน อินเดีย เมียนมา ลาวและเวียดนาม
การปลูกเลี้ยงและการใช้ประโยชน์
การปลูกเลี้ยง
ดินร่วนปนทราย หรือที่มีการระบายน้ำได้ดี ต้องการน้ำปานกลาง ชอบแดดรำไร
การขยายพันธุ์
เพาะเมล็ด
การใช้ประโยชน์
เป็นพืชสมุนไพร มีสรรพคุณทางยา ปลูกให้ร่มเงา