05 ส.ค.

โพทะเลด่าง Thespesia populnea (L.) Sol. ex Corrêa

วันที่บันทึกข้อมูล : 05 ส.ค. 2018 โดย : Editorial Team หมวดหมู่ : FAMILY MALVACEAE

ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2021 เวลา 23:33:18 น. โดย Editorial Team

จำนวนการเข้าชมหน้านี้ 5,927 views

900

โพทะเลด่าง

ชื่อวิทยาศาสตร์: Thespesia populnea (L.) Sol. ex Corrêa

ชื่อสามัญ: Cock tree, Portia tree, Rosewood of Seychelles, Tulip tree

ชื่ออื่น: บากู (มลายู-นราธิวาส, ปัตตานี) ปอกะหมัดไพร (ราชบุรี) ปอมัดไซ (เพชรบุรี) 

วงศ์: MALVACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ต้น ไม้ยืนต้น สูง 10-15 เมตร เปลือกนอกสีเทา เปลือกในสีน้ำตาลอ่อน มีตุ่มเล็ก ๆ ตลอดลำต้น

ใบ ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปหัวใจ กว้างประมาณ 12 เซนติเมตร ยาวประมาณ 15 เซนติเมตร ปลายแหลม โคนเว้า ขอบเรียบหรือหยักมนถี่ ใบค่อนข้างหนา เป็นมัน แผ่นใบด้านบนสีเขียวมีด่างสีขาวถึงสีขาวนวลกระจายทั่วใบไม่เป็นระเบียบ ใต้ใบสีซีดกว่า ก้านใบยาว 13-15 เซนติเมตร เส้นใบและเส้นกลางใบสีชมพู

ดอก ดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบ ดอกสีเหลือง เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีแดง โคนกลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย มีขนปกคลุม กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้นปลายแยกเป็น 5 แฉก เกสรเพศผู้และเกสรเพศเมียอยู่ในหลอดเกสรอันเดียวกัน ลักษณะเป็นพู่ยาว มีเกสรเพศผู้จำนวนมาก ก้านดอกมีขนอ่อน ดอกมีกลิ่นหอม ออกดอกช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม

ผล ผลเดี่ยวเปลือกแข็ง รูปทรงกลม ขนาดประมาณ 4 เซนติเมตร ภายในมีเมือกสีเหลือง เมล็ดเล็กยาวคล้ายเส้นใยไหม ติดผลช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม

ข้อมูลทั่วไป
ในประเทศไทยพบได้มากทางภาคใต้และตะวันออกเฉียงใต้ ตามแถบชายทะเล

การปลูกเลี้ยงและการใช้ประโยชน์

การปลูกเลี้ยง
ดินทั่วไป ต้องการน้ำมาก ชอบแสงแดดจัด ทนเค็มได้ดี

การขยายพันธุ์
เพาะเมล็ด ปักชำ

การใช้ประโยชน์
ปลูกเป็นไม้ประดับ เนื้อไม้ใช้ทำเครื่องเรือน ด้ามเครื่องมือ เครื่องดนตรี