เฟินกูดพร้าว Cyathea latebrosa (Wall. ex Hook.) Copel.
ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2021 เวลา 20:54:36 น. โดย Editorial Team
จำนวนการเข้าชมหน้านี้ 1,122 views
833.
เฟินกูดพร้าว
ชื่อวิทยาศาสตร์: Cyathea latebrosa (Wall. ex Hook.) Copel.
ชื่อสามัญ: –
ชื่ออื่น: กูดต้น มหาสดำ (ภาคตะวันออกเฉียงใต้)
วงศ์: CYATHEACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ต้น พืชจำพวกเฟินดิน ลำต้นตั้งตรง สูง 1.6-3 เมตร มีเกล็ดปกคลุมที่ยอด
เกล็ด รูปแถบ กว้าง 1.5-3 เซนติเมตร ยาว 15-20 เซนติเมตร สีน้ำตาลขอบสีอ่อน
ใบ ใบประกอบแบบขนนกสองชั้นถึงหยักลึกแบบขนนกสามชั้น รูปรี ยาวประมาณ 1.5 เมตร ใบย่อยชั้นที่ 1 รูปขอบขนาน กว้าง 15-20 เซนติเมตร ยาว 55-70 เซนติเมตร มี 14-27 คู่ ใบย่อยชั้นที่ 2 รูปขอบขนานแกมรูปใบหอก กว้าง 1.5-2 เซนติเมตร ยาว 7-10 เซนติเมตร ปลายเรียวยาวคล้ายหาง โคนรูปลิ่มกว้าง ขอบหยักลึกเกือบถึงเส้นใบ มี 25-30 คู่ เกิดเป็นพูรูปขอบขนานและโค้งขึ้นคล้ายเคียว ปลายมน ขอบเรียบหรือหยักมน แผ่นใบสีเขียว ใบคล้ายกระดาษ เส้นใบย่อยปลายเปิดแตกง่ามหรือเป็นเส้นเดี่ยวปลายเปิด ก้านใบสีน้ำตาลเข้มอมแดง ยาว 25-40 เซนติเมตร ด้านบนมีขน ด้านล่างมีตุ่มหนามขนาดเล็ก
กลุ่มอับสปอร์ กลม เกิดตรงง่ามของเส้นใบ ชิดเส้นก้านพู เยื่อคลุมขนาดเล็กติดอยู่กับแกนกลุ่มอับสปอร์ และมักถูกบดบังด้วยกลุ่มอับสปอร์
ข้อมูลทั่วไป
พบตามป่าดิบชื้นหรือดิบเขา ตามที่ลาดเทของภูเขาใกล้ธารน้ำ ทั้งในร่มหรือที่ได้รับแสงค่อนข้างมาก ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล 150-1,450 เมตร ในประเทศไทยพบได้มากในป่าอนุรักษ์ที่มีความอุดมสมบูรณ์ แต่เริ่มลดจำนวนลง
การปลูกเลี้ยงและการใช้ประโยชน์
การปลูกเลี้ยง
วัสดุปลูกที่ระบายน้ำได้ดี มีอินทรียวัตถุสูง ต้องการน้ำปริมาณปานกลาง แสงแดดร่มรำไรถึงมาก
การขยายพันธุ์
เพาะสปอร์
การใช้ประโยชน์
นิยมใช้เป็นไม้ประดับสวน