เฟินก้านดำหางนาคบก Adiantum caudatum L.
ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2021 เวลา 20:57:51 น. โดย Editorial Team
จำนวนการเข้าชมหน้านี้ 1,038 views
802
เฟินก้านดำหางนาคบก
ชื่อวิทยาศาสตร์: Adiantum caudatum L.
ชื่อสามัญ: Tailed maidenhair fern, Walking maidenhair fern
ชื่ออื่น: กูดน้ำข้าว (เชียงใหม่) ตีนตุ๊กแก
วงศ์: PTERIDACEAE Subfam. Vittarioideae
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ต้น พืชจำพวกเฟินดินหรืออิงอาศัย ลำต้นเป็นเหง้าสั้น ปกคลุมด้วยเกล็ด
เกล็ด รูปแถบ กว้าง 0.3-0.5 มิลลิมเตร ยาว 4-6.5 มิลลิเมตร ขอบเรียบถึงจักซี่ฟัน สีน้ำตาล
ใบ ใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว รูปแถบ กว้าง 2.5-3.5 เซนติเมตร ยาว 30-35 เซนติเมตร แผ่นใบย่อย เรียงสลับ รูปขอบขนาน กว้าง 0.5-3 เซนติเมตร 0.6-4 เซนติเมตร ปลายมน โคนรูปลิ่ม ขอบส่วนบนหยักซี่ฟันตื้น ด้านข้างเรียบ มี 20-44 คู่ ค่อย ๆ เล็กลงทางปลายใบ ใบอ่อนสีชมพูอมเงิน ใบแก่สีเขียว แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ก้านสีน้ำตาลเข้มถึงดำ มีเกล็ดและขนหนาแน่น ยาว 15-35 เซนติเมตร ปลายใบมีตาเจริญ เมื่อแตะถึงพื้นสามารถเจริญเป็นต้นใหม่ได้
กลุ่มอับสปอร์ รูปไต เกิดที่ปลายแฉกของใบย่อย ไม่มีเยื่อคลุม ขอบพับปิดกลุ่มอับสปอร์
ข้อมูลทั่วไป
พบได้ทั่วไปในป่าเขตร้อนที่มีความชุ่มชื้น
การปลูกเลี้ยงและการใช้ประโยชน์
การปลูกเลี้ยง
ดินร่วนปนทราย หรือวัสดุปลูกที่ระบายน้ำได้ดี ต้องการน้ำปริมาณน้อยถึงปานกลาง แสงแดดปานกลาง
การขยายพันธุ์
เพาะสปอร์ แยกต้นใหม่ที่เกิดตรงปลายใบ
การใช้ประโยชน์
เป็นไม้ประดับ