เฟินนาคราช Davallia denticulata (Burm. f.) Mett. ex Kuhn
ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2021 เวลา 20:58:42 น. โดย Editorial Team
จำนวนการเข้าชมหน้านี้ 2,176 views
780
เฟินนาคราช
ชื่อวิทยาศาสตร์: Davallia denticulata (Burm. f.) Mett. ex Kuhn
ชื่อสามัญ: –
ชื่ออื่น: –
วงศ์: DAVALLIACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ต้น พืชจำพวกเฟิน อิงอาศัย ลำต้นเป็นเหง้ายาวเกาะเลื้อย ปกคลุมด้วยเกล็ดหนาแน่นทั่วทั้งเหง้า
เกล็ด รูปไข่ กว้างประมาณ 1.5 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร ปลายเรียวยาวคล้ายหาง ขอบมีขนครุย สีน้ำตาลถึงสีน้ำตาลเข้ม
ใบ ใบประกอบแบบขนนก 4 ชั้น รูปกึ่งสามเหลี่ยม กว้างประมาณ 50 เซนติเมตร ยาวประมาณ 60 เซนติเมตร ปลายเรียวแหลม ใบย่อยคู่ล่างสุดมีขนาดใหญ่ที่สุด รูปกึ่งสามเหลี่ยม กว้างประมาณ 30 เซนติเมตร ยาวประมาณ 35 เซนติเมตร โคนรูปลิ่มกว้าง ใบย่อยชั้นที่ 2 รูปขอบขนานถึงรูปขอบขนานแกมรูปกึ่งสามเหลี่ยม ปลายค่อนข้างแหลมถึงเรียวแหลม ก้านสั้น ใบย่อยชั้นที่ 3 รูปขอบขนานเฉียงขึ้นด้านบน กว้างประมาณ 0.4 มิลลิเมตร ปลายกลมมน โคนเป็นรูปลิ่ม ขอบหยักเป็นพูแหลม แผ่นใบบาง ค่อนข้างแข็ง สีเขียว เห็นเส้นใบชัดเจน
กลุ่มอับสปอร์ เกิดที่ขอบพู เยื่อคลุมรูปถ้วย กว้างประมาณ 0.4 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 0.7 มิลลิเมตร
ข้อมูลทั่วไป
พบตามป่าดิบชื้นหรือป่าดิบเขา ขึ้นเกาะเลื้อยตามต้นไม้และซอกหินบริเวณที่ได้รับแสงมาก ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,000 เมตร ในประเทศไทยพบได้ทั่วทุกภาค
การปลูกเลี้ยงและการใช้ประโยชน์
การปลูกเลี้ยง
วัสดุปลูกที่ระบายน้ำได้ดี มีอินทรียวัตถุสูง ต้องการน้ำปริมาณปานกลาง แสงแดดมาก
การขยายพันธุ์
เพาะสปอร์
การใช้ประโยชน์
นิยมใช้เป็นไม้ประดับสวน