02 ส.ค.

เฟินลูกไก่ Cibotium barometz (L.) J.Sm.

วันที่บันทึกข้อมูล : 02 ส.ค. 2018 โดย : Editorial Team หมวดหมู่ : FAMILY CIBOTIACEAE

ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2021 เวลา 20:54:35 น. โดย Editorial Team

จำนวนการเข้าชมหน้านี้ 614 views

695

เฟินลูกไก่

ชื่อวิทยาศาสตร์: Cibotium barometz (L.) J.Sm.

ชื่อสามัญ:

ชื่ออื่น: กูดผีป่า กูดพาน (ภาคกลาง) ขนไก่น้อย หัสแดง ละอองไฟฟ้า ว่านไก่น้อย (ภาคกลาง) กูดเสือ โพลี นิลโพลี (ภาคใต้)

วงศ์: CIBOTIACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ต้น พืชจำพวกเฟินดิน ลำต้นตั้งตรง อวบหนา เส้นผ่านศูนย์กลางอาจมากกว่า 30 เซนติเมตร ปลายยอดปกคลุมด้วยขนสีทองหนาแน่น

ใบ ใบประกอบแบบขนนกสองชั้นถึงหยักลึกแบบขนนกสามชั้น รูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ยาวประมาณ 2 เซนติเมตร แกนกลางใบด้านบนมีขนนุ่มสีน้ำตาลปกคลุม ใบย่อยชั้นที่ 1 รูปขอบขนาน กว้างประมาณ 25 เซนติเมตร ยาวประมาณ 75 เซนติเมตร ใบย่อยชั้นที่ 2 รูปแถบแกมรูปหอก กว้าง 1.5-2.5 เซนติเมตร ยาว 10-15 เซนติเมตร ขอบหยักลึกเกือบถึงเส้นกลางใบ เกิดเป็นพูรูปขอบขนาน โค้งขึ้นคล้ายเคียว ปลายแหลม โคนตัด ขอบหยักซี่ฟันตื้นๆ มีมากกว่า 30 คู่ แผ่นใบสีเขียว ด้านล่างมีนวล ใบคล้ายกระดาษ เส้นใบย่อยปลายเปิดแตกง่าม ก้านใบหนา สีน้ำตาลอมแดง เส้นผ่านศูนย์กลาง 2-4 เซนติเมตร ยาวกว่า 1.5 เมตร

กลุ่มอับสปอร์ เกิดปลายเส้นใบย่อย มีเยื่อคลุมสองชิ้นประกบกัน เมื่อแก่แตกอ้าออกคล้ายฝาหอย

ข้อมูลทั่วไป
พบตามป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น หรือป่าดิบเขาที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล 100-1,500 เมตร ในประเทศไทยพบได้มากในป่าอนุรักษ์ที่มีความอุดมสมบูรณ์

การปลูกเลี้ยงและการใช้ประโยชน์
การปลูกเลี้ยง
วัสดุปลูกที่ระบายน้ำได้ดี มีอินทรียวัตถุสูง ต้องการน้ำปริมาณปานกลาง แสงแดดร่มรำไร

          การขยายพันธุ์
เพาะสปอร์

          การใช้ประโยชน์
นิยมใช้เป็นไม้กระถางหรือปลูกประดับสวน ขนสีทองบริเวณปลายยอดใช้ห้ามเลือด