24 พ.ย.

หมากผู้หมากเมีย เพชรชมพู Cordyline fruticosa (L.) A.Chev. ‘Phetchomphu’

วันที่บันทึกข้อมูล : 24 พ.ย. 2017 โดย : Editorial Team หมวดหมู่ : FAMILY ASPARAGACEAE

ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2021 เวลา 20:52:13 น. โดย Editorial Team

จำนวนการเข้าชมหน้านี้ 3,428 views

หมากผู้หมากเมีย เพชรชมพู

ชื่อวิทยาศาสตร์: Cordyline fruticosa (L.) A.Chev. ‘Phetchomphu’

ชื่อสามัญ: Cordyline, Ti plant, Dracaena Palm

ชื่ออื่น: –

วงศ์: ASPARAGACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ต้น ไม้พุ่มขนาดกลาง อายุหลายปี ลำต้นรูปทรงกระบอกยาว แตกเป็นกอ มีเนื้อไม้เมื่อต้นมีอายุมากขึ้น สูงประมาณ 57 เซนติเมตร

ใบ ใบเดี่ยว เรียงสลับกึ่งเรียงเวียน ใบบนตั้งขึ้น ใบล่างโค้งลู่ลงเล็กน้อย รูปขอบขนาน รูปใบหอก ปลายเรียวแหลม โคนสอบมน ขอบเรียบ ใบหนาคล้ายแผ่นหนัง พับจีบตื้น ยาว 28-35 เซนติเมตร กว้าง 8-10 เซนติเมตร ก้านใบเป็นกาบ สีม่วงอมน้ำตาล ยาว 10-11 เซนติเมตร กว้าง 0.5 เซนติเมตร บริเวณโคนก้านใบห่อหุ้มลำต้น ขอบใบสีม่วงอมน้ำตาลตลอดแนวขอบใบ แผ่นใบสีเขียวปนสีม่วง เส้นกลางใบและเส้นใบ สีม่วงอมน้ำตาล

ดอก ออกดอกเป็นช่อแบบช่อเชิงลด ออกดอกบริเวณปลายยอด ดอกสีชมพูหรือม่วง ขนาดเล็ก

ข้อมูลทั่วไป
มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตร้อนทั่วๆ ไป เช่น อินเดีย ไทย มาเลเซีย
การปลูกเลี้ยงและการใช้ประโยชน์
การปลูกเลี้ยง
ดินร่วนซุยระบายน้ำได้ดี ต้องการน้ำปริมาณมาก แสงแดดปานกลางถึงรำไร
การขยายพันธุ์
เพาะเมล็ด ตอนกิ่ง ปักชำ แยกเหง้า
การใช้ประโยชน์
ปลูกเป็นไม้ประดับ เป็นไม้มงคล นิยมปลูกทั้งในสวนและไม้กระถาง