02 ก.ค.

แก้ว Murraya paniculata (L.) Jack.

วันที่บันทึกข้อมูล : 02 ก.ค. 2017 โดย : Editorial Team หมวดหมู่ : FAMILY RUTACEAE

ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2021 เวลา 13:37:42 น. โดย Editorial Team

จำนวนการเข้าชมหน้านี้ 2,772 views

แก้ว

ชื่อวิทยาศาสตร์: Murraya paniculata (L.) Jack. 

ชื่อสามัญ: Orang Jessamine, China Box Tree, Andaman Satinwood, Chinese Box-wood

ชื่ออื่น: กะมูนิง (มลายู ปัตตานี) แก้วขาว (กลาง) แก้วขี้ไก่ (ยะลา) แก้วพริก (เหนือ) แก้วลาย (สระบุรี) จ๊าพริก (ลำปาง) ตะไหลแก้ว (เหนือ)

วงศ์: RUTACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลำต้น ไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงได้ถึง 5 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลมทึบ สีเขียวเข้ม เปลือกต้นสีขาวเทา แตกเป็นร่องตามยาว

ใบ ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงสลับ ใบย่อย 5-9 ใบ สลับกันจากเล็กไปหาใหญ่ สีเขียวเข้มเป็นมัน ใบย่อยที่ปลายก้านใบรูปไข่ รูปรี หรือรูปไข่กลับ ปลายแหลม โคนแหลมหรือสอบ ขอบเป็นคลื่นหรือหยักมนตื้นๆ โคนใบเบี้ยวเล็กน้อย มีต่อมน้ำมัน

ดอก ช่อดอกสั้น ออกตามง่ามใบ ดอกสีขาว กลิ่นหอม ฐานรองดอกรูปวงแหวน กลีบเลี้ยง 5 กลีบ ขนาดเล็ก ปลายมน สีเขียว กลีบดอกรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ เรียงซ้อนเหลื่อม ยาวประมาณ 1.2 เซนติเมตร ดอกบานเต็มที่กว้างประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร เกสรเพศผู้ 10 เกสร ยาวไม่เท่ากัน

ผล รูปรีหรือรูปไข่ กว้าง 5-8 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ผลแก่สีแดงอมส้ม ต่อมน้ำมันเห็นได้ชัด

ข้อมูลทั่วไป

พบได้ทั่วไปในเขตภูมิภาคอินโดจีน

การปลูกเลี้ยงและการใช้ประโยชน์

      การปลูกเลี้ยง

      ปลูกในพื้นที่ดินร่วนระบายน้ำได้ดี ความชื้นปานกลาง แสงแดดเต็มวัน

      การขยายพันธุ์

      เพาะเมล็ด ตอนกิ่ง

      การใช้ประโยชน์

      เป็นไม้ประดับที่มีความทนต่อแสงแดด ปลูกเพื่อความสวยงาม  ดอกมีกลิ่นหอม