เกล็ดกระโห้ด่าง Clusia major L. cv. Aureo-variegata
ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2021 เวลา 20:32:57 น. โดย Editorial Team
จำนวนการเข้าชมหน้านี้ 5,044 views
เกล็ดกระโห้ด่าง
ชื่อวิทยาศาสตร์: Clusia major L. cv. Aureo-variegata
ชื่อสามัญ: Variegated Balsam Apple
ชื่ออื่น: –
วงศ์: CLUSIACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ต้น ไม้ต้น อาจขึ้นตามหินหรือเป็นพืชอิงอาศัย สูง 2-20 เมตร ลำต้นมียางสีเหลือง ผิวเปลือกต้นเรียบ สีน้ำตาลอมเทา เนื้อไม้มีความเหนียวและแข็ง
ใบ ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม ใบรูปไข่กลับ ปลายมนกว้าง โคนสอบ ขอบเรียบ ใบหนา สีเขียวเข้มมีรอยด่างสีเหลืองที่ขอบนอกใบด้านบนเรียบไม่เห็นเส้นใบ ด้านล่างเห็นเส้นกลางใบชัดเจน ก้านใบเป็นร่องที่บริเวณโคนก้าน
ดอก ดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบหรือปลายกิ่ง กิ่งละ 2-3 ดอก ดอกสีขาวหรือชมพู กลีบเลี้ยง 4-6 กลีบ กลีบดอกรูปไข่กลับกว้าง 6-8 กลีบ สีขาวปนชมพู ดอกแยกเพศ ดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้เรียงกันหลายชั้น เกสรที่สมบูรณ์อยู่ตอนในและติดกันเป็นรูปถ้วย ดอกเพศเมียมีเกสรเพศผู้ไม่สมบูรณ์ติดกันเป็นรูปถ้วย รังไข่รูปทรงกลม ไม่มีก้านยอดเกสรเพศเมีย ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็นรัศมี 6-9 แฉก ดอกมีกลิ่นหอม ฤดูกาลออกดอกในช่วงเดือนพฤศจิกายน-มกราคม
ผล ผลแห้ง แยกแตก คล้ายผลมังคุด ผิวเรียบ สีเขียวอมน้ำตาล ข้างในสีอ่อนกว่า มีเมล็ดรูปร่างบาง ติดอยู่กับแกนกลาง เนื้อนุ่ม เยื่อหุ้มเมล็ดสีแดงเข้ม
ข้อมูลทั่วไป
มีถิ่นกำเนิดในปานามา เวเนซูเอล่า และหมู่เกาะเวสอินดิส
การปลูกเลี้ยงและการใช้ประโยชน์
การปลูกเลี้ยง
ดินร่วน น้ำปานกลาง ทนแล้ง ชอบแดดจัด
การขยายพันธุ์
เพาะเมล็ด ปักชำ ตอนกิ่ง
การใช้ประโยชน์
ปลูกประดับสวน ดอกมีสีสันสวยงาม ดอกมีกลิ่นหอม