กล้วยบัวสีชมพู Musa ornata Roxb.
ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2021 เวลา 20:52:14 น. โดย Editorial Team
จำนวนการเข้าชมหน้านี้ 1,502 views
กล้วยบัวสีชมพู
ชื่อวิทยาศาสตร์: Musa ornata Roxb.
ชื่อสามัญ: Flowering banana
ชื่ออื่น: กล้วยบัว
วงศ์: MUSACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ต้น: ไม้ล้มลุก มีเหง้าใต้ดินสั้นๆ ลำต้นแตกเป็นกอ ลำต้นเทียมประกอบด้วยกาบใบสูง 2-3 เมตร สีเขียวนวล เส้นผ่านศูนย์กลาง 10-15 เซนติเมตร
ใบ: ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปขอบขนานหรือรูปใบหอก กว้างประมาณ 25 เซนติเมตร ยาวประมาณ 2 เมตร ปลายมนหรือตัด โคนเบี้ยว ด้านหนึ่งมน อีกด้านหนึ่งเรียวแหลม ขอบเรียบ แผ่นใบเป็นคลื่นเล็กน้อย มีนวลสีขาวเล็กน้อยทั้งสองด้าน กลางใบเป็นร่อง หลังใบเรียบ ก้านใบยาวได้ถึง 60 เซนติเมตร
ดอก: เป็นช่อ ออกที่ปลายยอด ปลีช่อดอกตั้งตรง ก้านช่อหนา ยาว 2-3 เซนติเมตร ใบประดับสีชมพู ยาวประมาณ 30 เซนติเมตร ปลายแหลม ด้านล่างยาวประมาณ 10 เซนติเมตร มีขนาดเล็กลงช่วงปลายช่อ ช่วงปลายเป็นสีเหลือง กาบดอกเพศเมียอยู่ช่วงล่าง มีกาบประมาณ 7 กาบ ดอกเพศเมียมี 3-5 ดอก ในแต่ละกาบ เรียงแถวเดียว กลีบดอกรวมเป็นสีเหลืองอมส้ม กลีบรวมที่ติดกันยาวประมาณ 3.5 เซนติเมตร กลีบที่แยกยาวประมาณ 3 เซนติเมตร ปลายหยักเป็นพูตื้นๆ 5 พู พับงอ เกสรเพศผู้ที่เป็นหมันยาวประมาณ 1/3 หรือ 1/2 ส่วนของความยาวก้านเกสรเพศเมีย รังไข่ยาวประมาณ 4 เซนติเมตร ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 3 เซนติเมตร ดอกเพศผู้มี 3-6 ดอก ในแต่ละกาบ เรียงแถวเดียวกัน กลีบรวมเป็นสีส้มครึ่งบน ด้านล่างสีอ่อนกว่า กลีบรวมที่ติดกันยาว 3.5-4 เซนติเมตร คล้ายกับดอกเพศเมีย กลีบรวมที่แยกกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-3.5 เซนติเมตร เกสรเพศผู้ยาวเท่ากับกลีบรวมที่แยก ก้านชูอับเรณูยาวกว่าอับเรณู อับเรณูสีม่วง
ผล: ช่อผลสีเขียว เรียงชิดกันคล้ายนิ้วมือ ผลรูปรีแกมรูปขอบขนานเป็นเหลี่ยม ยาว 6-8 เซนติเมตร มี 4-5 สัน ก้านผลสั้น หวีหนึ่งมีแถวเดียวเรียงไม่เป็นระเบียบ
ข้อมูลทั่วไป
ถิ่นกำเนิดในอินเดีย พม่า และบังกลาเทศ
การปลูกเลี้ยงและการใช้ประโยชน์
การปลูกเลี้ยง
ดินทุกชนิด ต้องการน้ำมาก แสงแดดจัด
การขยายพันธุ์
แยกหน่อ
การใช้ประโยชน์
ปลูกประดับทั่วไป มีสรรพคุณทางยา กาบหัวปลี ผล และรากแก้ท้องเสีย