02 ก.ค.

โกสนขุนช้างถวายฎีกา Codiaeum variegatum (L.) Rumph. ex A.Juss.

วันที่บันทึกข้อมูล : 02 ก.ค. 2017 โดย : Editorial Team หมวดหมู่ : FAMILY EUPHORBIACEAE

ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2021 เวลา 20:53:44 น. โดย Editorial Team

จำนวนการเข้าชมหน้านี้ 1,480 views

โกสนขุนช้างถวายฎีกา  

ชื่อวิทยาศาสตร์: Codiaeum variegatum (L.) Rumph. ex A.Juss.

ชื่อสามัญ: Croton, Variegated Laurel, Garden Croton

ชื่ออื่น: ช้างถวายฎีกา โกรต๋น กรีกะสม กรีสาเก

วงศ์: EUPHORBIACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ต้น ไม้พุ่มขนาดกลาง แตกกิ่งก้านเป็นทรงพุ่มค่อนข้างแน่น

ใบ ใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับถี่ รูปแถบยาว ก้านใบสั้น ปลายมนมีรยางค์ โคนสอบ ขอบเรียบ ใบค่อนข้างหนาและแข็ง แผ่นใบบิดเป็นเกลียว ใบด้านล่างสีเขียวแต้มจุดเหลืองเล็กน้อย เส้นใบและหลังใบสีแดง ใบอ่อนสีเขียวปนเหลือง บริเวณเส้นกลางใบเป็นแถบสีเหลืองยาวตลอดทั้งใบ ขอบใบสีแดง หลังใบสีแดงปนเหลือง ใบอ่อนที่ส่วนยอดไม่มีสีแดงปน ยาวประมาณ 11.4 เซนติเมตร กว้างประมาณ 2.5 เซนติเมตร

ดอก ดอกแยกเพศอยู่ร่วมต้น ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบและปลายกิ่ง ดอกสีขาว ช่อดอกเพศผู้โค้งลง ก้านช่อค่อนข้างยาว มี 30-60 ดอก กลีบเลี้ยงขนาดเล็ก มี 3-6 กลีบ กลีบดอก 5-6 กลีบ ดอกมีขนาดเล็กประมาณ 3 มิลลิเมตร ช่อดอกเพศเมียตั้งตรง ก้านช่อยาว มี 10-20 ดอก ไม่มีกลีบดอก มีแต่กลีบเลี้ยง

ผล ผลค่อนข้างกลมขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร มี 2-3 พู เมื่อแก่ผลแตกได้ เมล็ดสีน้ำตาล มี 2-3 เมล็ด แต่ละพูมี 1 เมล็ด

ข้อมูลทั่วไป

เป็นพันธุ์ไม้ต่างประเทศ มีถิ่นกำเนิดไม่แน่ชัด แต่ปลูกกระจายทั่วไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลีย และแถบหมู่เกาะแปซิฟิก

การปลูกเลี้ยงและการใช้ประโยชน์

      การปลูกเลี้ยง

      ดินร่วน ต้องการน้ำปานกลาง แสงแดดจัดหรือแสงแดดครึ่งวัน

      การขยายพันธุ์

      เพาะเมล็ด ปักชำ ตอนกิ่ง

      การใช้ประโยชน์

      นิยมปลูกประดับกลางแจ้งเพื่อสร้างสีสัน