ช้างน้าว Ochna integerrima (Lour.) Merr.
ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2021 เวลา 01:38:24 น. โดย Editorial Team
จำนวนการเข้าชมหน้านี้ 727 views
ช้างน้าว
ชื่อวิทยาศาสตร์: Ochna integerrima (Lour.) Merr.
ชื่อสามัญ: –
ชื่ออื่น: กระแจะ กระโดงแดง กำลังช้างสาร ขมิ้นพระต้น ควุ แง่ง ช้างโน้ม ช้างโหม ตาชีบ้าง ตานนกกรด ตาลเหลือง ฝิ่น โว้โร
วงศ์: OCHNACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ต้น ไม้กึ่งพุ่ม ไม้พุ่ม หรือไม้ต้นผลัดใบ สูงได้ถึง 12 เมตร
ใบ ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว รูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ รูปใบหอก รูปใบหอกแกมรูปไข่กลับ พบน้อยที่เป็นรูปไข่กลับหรือรูปใบหอกแกมรูปแถบ กว้าง 2-7 เซนติเมตร ยาว 6-25 เซนติเมตร ปลายเรียวแหลม พบบ้างที่ปลายแหลมหรือมน โคนรูปลิ่ม พบบ้างที่เป็นรูปมน ขอบหยักซี่ฟันถี่ แผ่นใบคล้ายแผ่นหนัง เส้นแขนงใบข้างละ 8-12 เส้น โค้งขึ้นใกล้ขอบใบแต่ไม่เชื่อมกัน ก้านใบยาว 1-5 มิลลิเมตร
ดอก ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามซอกใบหรือปลายกิ่ง แกนกลางช่อยาว 0.5-4 เซนติเมตร ช่อแขนงแบบช่อกระจุกด้านเดียว มี 1-3 ดอก ก้านช่อแขนงยาว 2-8 มิลลิเมตร ก้านดอกยาว 2-4 เซนติเมตร ดอกสีเหลือง กลีบเลี้ยง 4-5 กลีบ รูปไข่ถึงรูปขอบขนานแกมรูปไข่ กลีบดอก 5-7 กลีบ รูปไข่กลับ เกสรเพศผู้ 25-75 เกสร ยอดเกสรเพศเมีย 5-16 เกสร
ผล แบบผลกลุ่ม ผลย่อยแบบผลผนังชั้นในแข็ง มี 3-15 ผลรูปทรงรี กว้างประมาณ 8 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร สีเขียว สุกสีดำเป็นมัน มี 1 เมล็ด
ข้อมูลทั่วไป
ในประเทศไทยพบเกือบทุกภาค ในต่างประเทศพบที่จีน มาเลเซียตะวันตก
การปลูกเลี้ยงและการใช้ประโยชน์
การปลูกเลี้ยง
ดินร่วน ระบายน้ำดี ต้องการน้ำปานกลาง ไม่ชอบน้ำท่วมขัง ทนแล้ง ชอบแสงแดดจัด
ออกดอกช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม
การขยายพันธุ์
เพาะเมล็ด ตอนกิ่ง ปักชำกิ่ง
การใช้ประโยชน์
ปลูกเป็นไม้ประดับ เป็นพืชสมุนไพร รากมีสรรพคุณทางยา